loader image

บริการครอบครัว

ทนายครอบครัว

คดีที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากทนายความที่มีประสบการณ์ ความเข้าใจ และความชำนาญในด้านนี้ เพื่อให้การดำเนินการในแต่ละขั้นตอนเป็นไปอย่างถูกต้องและราบรื่น

ทนายครอบครัวสามารถช่วยคุณจัดการหรือแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวได้ดังหัวข้อต่อไปนี้

การหย่า (Divorce)

การหย่าคือการสิ้นสุดการสมรสซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย โดยการหย่าในประเทศไทยนั้นมี 2 ประเภทคือการหย่าโดยความยินยอมและการหย่าโดยไม่ยินยอม

การหย่าโดยความยินยอม

การหย่าโดยความยินยอมคือการที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมีการหย่าและจดทะเบียนหย่าต่อหน้าทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอในพื้นที่ การหย่าลักษณะเช่นนี้มีกระบวนการและขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนและไม่ยุ่งยาก ทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอีกด้วย

การหย่าโดยไม่ยินยอม

การหย่าโดยไม่ยินยอมคือการหย่าที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ยินยอมพร้อมใจที่จะให้มีการหย่าเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถดำเนินการหย่าได้ คู่สมรสฝ่ายที่ต้องการหย่าจึงจำต้องใช้สิทธิทางศาลคือการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันซึ่งเป็นกระบวนที่มีความซับซ้อนและขั้นตอนที่ต้องใช้บุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษา เช่น ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย นิติกรประจำศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามมาทั้งค่าวิชาชีพทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียมศาลในกรณีที่มีการแบ่งสินสมรสและเรียกค่าเลี้ยงชีพ ค่าส่งเอกสารและหมายเรียก เป็นต้น นอกจากนั้นการจะใช้สิทธิฟ้องหย่าได้ มิใช่ว่าคู่สมรสฝ่ายที่ต้องการหย่าจะสามารถฟ้องคดีได้เลย เพราะจำต้องเป็นเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดหรือที่เรียกว่าเหตุหย่า

กฎหมายไทยกำหนดเหตุหย่าไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ไว้ทั้งหมด 10 เหตุ ดังนี้

  1. สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
  2. สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
    (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
    (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
    (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
  3. สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
  4. สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี
    (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร
    (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี
  5. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
  6. สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
  7. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  8. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
  9. สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
  10. สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

เมื่อมีการฟ้องหย่าแล้ว คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องคดียังสามารถเรียกสิทธิต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด เช่นค่าอุปการะเลี้ยงดูทั้งของตนเองและบุตร ค่าเลี้ยงชีพหากเหตุแห่งการหย่าเกิดจากความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ค่าทดแทนกรณีที่เหตุแห่งการหย่าเกิดจากการคบชู้ของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง แบ่งสินสมรส รวมทั้งการกำหนดอำนาจปกครองบุตรอีกด้วย

สินสมรส (Marital Property)

สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส หมายถึง ทรัพย์สินใดๆที่คู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดได้มาในระหว่างสมรส ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส บ้านและที่ดินที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายหลังสมรส รถยนต์ เป็นต้น ดังนั้นการจะพิจารณาว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสหรือไม่จำต้องพิจารณาว่าสามีภริยาได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นลำดับแรกก่อน

เมื่อทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสแล้ว คู่สมรสแต่ละฝ่ายย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นๆ ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง การกระทำการหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสินสมรสบางประการย่อมต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนเสมอ ได้แก่

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากที่กล่าวมานี้สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่าย ทั้งยังสามารถทำพินัยกรรมยกสินสมรสเฉพาะในส่วนของตนให้กับผู้อื่นได้ด้วย เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จำต้องมีการแบ่งสินสมรสกันฝ่ายละกึ่งหนึ่ง หากคู่สมรสประสงค์จะหย่าขาดจากกันแต่ไม่สามารถตกลงกันเรื่องสินสมรสได้ สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอแบ่งสินสมรสหรือหากมีเหตุหย่าตามที่กฎหมายกำหนดก็สามารถฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสไปในคราวเดียวกันได้ด้วย

นอกจากนี้ หากคู่สมรสใดที่ไม่ต้องการให้ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสตกเป็นสินสมรสจำต้องมีการทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินไว้เป็นพิเศษก่อนสมรส และต้องจดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับจดทะเบียนพร้อมลายมือชื่อพยานอย่างน้อย 2 คนไว้แนบท้ายทะเบียนสมรสด้วย

สินสมรส (Marital Property)

สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส หมายถึง ทรัพย์สินใดๆที่คู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดได้มาในระหว่างสมรส ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส บ้านและที่ดินที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายหลังสมรส รถยนต์ เป็นต้น ดังนั้นการจะพิจารณาว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสหรือไม่จำต้องพิจารณาว่าสามีภริยาได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นลำดับแรกก่อน

เมื่อทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสแล้ว คู่สมรสแต่ละฝ่ายย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นๆ ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง การกระทำการหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสินสมรสบางประการย่อมต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนเสมอ ได้แก่

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากที่กล่าวมานี้สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากอีกฝ่าย ทั้งยังสามารถทำพินัยกรรมยกสินสมรสเฉพาะในส่วนของตนให้กับผู้อื่นได้ด้วย เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จำต้องมีการแบ่งสินสมรสกันฝ่ายละกึ่งหนึ่ง หากคู่สมรสประสงค์จะหย่าขาดจากกันแต่ไม่สามารถตกลงกันเรื่องสินสมรสได้ สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอแบ่งสินสมรสหรือหากมีเหตุหย่าตามที่กฎหมายกำหนดก็สามารถฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสไปในคราวเดียวกันได้ด้วย

นอกจากนี้ หากคู่สมรสใดที่ไม่ต้องการให้ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสตกเป็นสินสมรสจำต้องมีการทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินไว้เป็นพิเศษก่อนสมรส และต้องจดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับจดทะเบียนพร้อมลายมือชื่อพยานอย่างน้อย 2 คนไว้แนบท้ายทะเบียนสมรสด้วย

ค่าอุปการะเลี้ยงดู (Custody – Spousal and Child Support)

ในคดีครอบครัวนั้น ค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถพิจารณาได้ 2 ส่วนคือ

  1. ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตร (ในกรณีนี้คือบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น)
  2. ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา

ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตร

ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น เนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรอันเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมและหน้าที่ตามกฎหมาย โดยบิดามารดาจำต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรที่เป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หมายความว่ากฎหมายกำหนดระยะเวลาของการอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้เมื่อบุตรบรรลุนิติภาวะเท่านั้น หรือมีอายุ 20 ปี เว้นแต่ว่าบุตรจะอยู่ในสภาพทุพลภาพ ในขณะที่หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่บุตรจำต้องกระทำนั้น กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าบุตรจะต้องเริ่มอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาตั้งแต่วัยใดถึงวัยใดและเป็นระยะเวลาเพียงใด เมื่อบิดามารดาและบุตรต่างมีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันในการอุปการะเลี้ยงดูกันและกัน เมื่อมีการละเลย หรือขาดตกบกพร่องหรือไม่อุปการะเลี้ยงดูหรือเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ กฎหมายให้สิทธิผู้ที่ควรจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายได้นับตั้งแต่วันที่อีกฝ่ายไม่ให้การเลี้ยงดู โดยการฟ้องคดีนี้บิดาหรือมารดาสามารถฟ้องคดีเรียกค่าอุปการะทั้งของตนและของบุตรแทนบุตรได้อีกด้วย

ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา

สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยามีความพิเศษต่างจากค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดารมารดากับบุตร เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ในกรณีที่สามีภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร ฝ่ายที่เดือดร้อนเกินควรอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาจึงมิใช่เพียงว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถละฐานะของตนแล้ว นอกจากอีกฝ่ายหนึ่งจะสามารถฟ้องคดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้แล้วยังสามารถเป็นหนึ่งในเหตุหย่าที่นำมาฟ้องคดีเพื่อขอหย่าขาดได้ด้วย

การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูทั้งในส่วนของค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตรและค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีและภริยา หากมีการฟ้องคดีศาลอาจจะให้หรือไม่ให้ก็ได้โดยพิจารณาจากความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องกับฐานะของผู้รับประกอบกันและเมื่อให้แล้วสามารถเพิกถอน ลดหรือเพิ่มอีกด้วยก็ได้

จดทะเบียนรับรองบุตร (Child Registration)

เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียวเท่านั้น บิดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาเด็กไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและบุตรผู้นั้นย่อมไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างกัน กล่าวคือ บิดาไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมในอันที่จะกระทำการใดๆ แทนบุตร เช่น การให้ความความยินยอมในการทำนิติกรรมต่างๆ ไม่มีอำนาจปกครองบุตร ไม่มีหน้าที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ไม่มีสิทธิในการได้รับมรดกของบุตร ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อันเกิดจากการที่บุตรถูกกระทำละเมิดเป็นต้น ในขณะเดียวกันตัวบุตรเองก็ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดา ไม่มีสิทธิได้รับมรดกหากบิดาไม่ได้รับรองโดยพฤติการณ์ว่าเป็นบุตร

การจดทะเบียนรับรองบุตรเป็นหนึ่งในวิธีการทางกฎหมายที่สามารถทำให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ โดยจะต้องมีการจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรกับนายทะเบียนและได้รับความยินยอมจากมารดาเด็กและบุตร หากมารดาเด็กหรือเด็กคัดค้านการจดทะเบียน บิดาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจึงนำคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนโดยไม่จำต้องขอความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็กอีก แต่ในทางปฏิบัติผู้คนส่วนมากจะใช้วิธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาก่อนแล้วจึงนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงการคัดค้านและการรับจดทะเบียนของนายทะเบียนตั้งแต่ต้น

การรับบุตรบุญธรรม (Child Adoption)

บิดา หรือมารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมเป็นบุคคลที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน แต่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกันระหว่างบิดาหรือมารดาบุญธรรมกับบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก และเด็กที่เป็นบุตรบุญธรรมด้วยเหตุผลบางประการ เช่นเพื่อให้ได้การอุปการะเลี้ยงดูที่ดีของเด็ก หรือเพื่อให้ผู้รับบุตรบุญธรรมที่ไม่มีบุตรได้สามารถมีบุตรได้ตามกฎหมาย เมื่อมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายจะให้ความคุ้มครองในสิทธิของเด็กให้มีฐานะอย่างเดียวกันกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือมารดาบุญธรรมทันทีนับแต่วันที่จดทะเบียน เช่น มีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา หรือมารดาบุญธรรม แต่บิดา หรือมารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิที่จะมารับมรดกของบุตรบุญธรรม นอกจากนี้แล้ว บุตรบุญธรรมยังไม่เสียสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายในครอบครัวเดิมของตนแต่อย่างใด กล่าวคือ ยังมีสิทธิรับมรดก ของบิดามารดาที่แท้จริงได้ และบิดามารดาที่แท้จริงมีสิทธิไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนได้ตามสมควร

ทั้งนี้กฎหมายยังคุ้มครองเด็ก โดยบิดา หรือมารดาบุญธรรมจะเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาที่แท้จริงเสียก่อน และจะฟ้องให้มีการเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่มีเหตุอันควรไม่ได้

การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม หากผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นผู้เยาว์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน โดยคุณสมบัติของผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมได้แก่

  1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
  2. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
  3. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดา และมารดา หรือผู้ปกครอง
  4. ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
  5. ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่แล้วจะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก ในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

เมื่อมีการรับบุตรบุญธรรมแล้วก็สามารถเลิกรับบุตรบุญธรรมได้เช่นกัน กฎหมายได้กำหนดวิธีการเลิกรับบุตรบุญธรรมไว้ 2 วิธีคือการเลิกรับบุตรบุญธรรมด้วยความตกลงกันระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมในกรณีที่บุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้วหรือได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาในกรณีที่บุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ และการฟ้องคดีเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด

พินัยกรรม (Wills)

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนหรือในการต่างๆ ซึ่งจะเกิดผลบังคับได้เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย พินัยกรรมถือเป็นการทำนิติกรรมฝ่ายเดียวที่กฎหมายกำหนดแบบในการทำไว้เพราะเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตาย โดยแบบของพินัยกรรมนั้นกฎหมายกำหนดไว้ด้วยกัน 5 แบบ คือ

1. พินัยกรรมแบบธรรมดา

ต้องมีการทำเป็นหนังสือโดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ (จะเขียนหรือพิมพ์เป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้) ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ และต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่พยานที่จะลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่ออย่างเดียวเท่านั้น

2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

ต้องมีการทำเป็นหนังสือโดยผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองเท่านั้น จะให้บุคคลอื่นเขียนแทนไม่ได้ โดยจะใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เขียนหนังสือไม่ได้จะไม่สามารถจะทำพินัยกรรมแบบนี้ได้ พินัยกรรมแบบนี้จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องมีพยานลงลายมือชื่อ ทั้งนี้ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ และต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือแกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้

3. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง

การขอทำพินัยกรรมเป็นเอกสารฝ่ายเมืองนั้น ต้องมีการยื่นคำร้องขอให้กรมการอำเภอ (นายอำเภอ) อำเภอใดก็ได้ ดำเนินการให้ตามความประสงค์ โดยการแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่นายอำเภอต่อหน้า พร้อมพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ให้นายอำเภอจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบแล้วนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อเห็นว่าข้อความที่นายอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกัน กับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ ข้อความที่นายอำเภอจดไว้นั้น ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี จดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ไม่จำเป็นต้องทำในที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอเสมอไป ถ้าผู้ทำพินัยกรรมขอจะทำนอกที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอก็ได้

4. พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ

ต้องมีการแสดงความจำนงตามแบบของเจ้าพนักงาน ยื่นต่อกรมการอำเภอ (นายอำเภอ) ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอโดยต้องมีข้อความเป็นพินัยกรรมและลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม ทั้งผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้นด้วย
ทั้งนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น ไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดนั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน นายอำเภอจะจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้ในซองพับ และประทับตราประจำตำแหน่ง แล้วนายอำเภอผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น

5. พินัยกรรมทำด้วยวาจา

พินัยกรรมนี้จะกระทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งบุคคลผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม ซึ่งในพฤติการณ์เช่นนี้ ผู้ทำพินัยกรรมไม่อาจหาเครื่องมือเครื่องเขียนได้ทันท่วงที หรือกว่าจะหาได้ก็ถึงตายเสียก่อน ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ โดยแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น พยานทั้งหมดต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยมิชักช้า และแจ้งให้นายอำเภอทราบถึงข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจา วัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม พฤติการณ์พิเศษที่ขัดขวางมิให้สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นด้วย

การทำพินัยกรรมให้ถูกต้องตามแบบถือเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะส่งผลถึงความมีผลของพินัยกรรม การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินและสิทธิต่างๆที่มีอยู่ก่อนตายจึงควรปรึกษาทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายในการจัดทำพินัยกรรม

มรดก (Heritages)

มรดก คือ ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตาย รวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ตายนั้นด้วย มรดกกับพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องเดียวกันแต่มักเกี่ยวข้องกันเพราะเป็นเรื่องทรัพย์สินของผู้ตายเช่นเดียวกัน หากผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้ใดไว้ ทรัพย์สินของผู้ตายจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายมรดกทันทีเมื่อตาย

เมื่อมีการตายเกิดขึ้นจึงย่อมมีทรัพย์มรดกและสิทธิหน้าที่ความรับผิดของผู้ตายย่อมตกแก่ทายาท แต่แม้ทายาทจะมีสิทธิได้รับมรดก การจัดการทรัพย์มรดกต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้โดยง่าย เพราะผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายคือ ผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการมรดกคือผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ซึ่งเกิดได้ 2 ทางคือโดยพินัยกรรมแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกและโดยคำสั่งศาลกรณีที่ไม่ได้มีการทำพินัยกรรมหรือพินัยกรรมไม่ได้ระบุไว้ ในกรณีหลังนี้ ต้องปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องในการแบ่งปันทรัพย์มรดกและทายาทผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิได้รับมรดกจำต้องร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก โดยบุคคลที่จะร้องขอให้เป็นผู้จัดการมรดกนั้นจะเป็นตัวทายาทเองหรือบุคคลใดๆก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายคือ

  1. ต้องบรรลุนิติภาวะ
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
  3. ไม่เป็นบุคคลซึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

ในการร้องขอบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ทายาททุกคนต้องให้ความยินยอมในการตั้งบุคคลนั้นเป็นผู้จัดการมรดก หากมีการคัดค้านในชั้นศาลจำต้องมีการไต่สวนเพื่อพิจารณาให้ได้ความว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของการจัดการมรดกเป็นสำคัญ หรืออาจสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันก็ได้

กำลังต้องการทนายความ?

หากคุณกำลังมองหาทนายเพื่อขอคำปรึกษา หรือต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเอกสารทางกฎหมาย ว่าความ หรือต่อสู้คดีในชั้นศาล
เพียงทิ้งข้อมูลติดต่อและเล่าให้เราทราบถึงปัญหาของคุณ เราจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดพร้อมรายละเอียดค่าใช้จ่ายของคุณ

ATa Outsourcing